วันจันทร์ที่ 3 กุมภาพันธ์ พ.ศ. 2557


บ้าน
บ้าน คือ ที่อยู่อาศัย กินอยู่หลับนอน เป็นศูนย์กลางของการรวมสมาชิกในครอบครัว และทำกิจกรรมอื่นๆ เพื่อดำเนินชีวิตประจำวัน  ซึ่งจะทำได้อย่างสะดวกสบายเครื่องเรือนเครื่องใช้ต่างๆที่เหมาะสม
ความหมายของบ้าน:
พจนานุกรมฉบับราชบัณฑิตยสถาน พ.. 2525 จำกัดความว่า บ้าน ว่า"ที่อยู่ สิ่งปลูกสร้างสำหรับที่อยู่อาศัย"
"โรงเรือน หรือสิ่งปลูกสร้าง สำหรับใช้เป็นที่อยู่อาศัย ซึ่งมีเจ้าของบ้านครอบครอง"

ประโยชน์ของบ้าน:
บ้านเป็น 1 ในปัจจัย 4 ดังนั้นบ้านจึงมีคุณประโยชน์นานัปการ ทำให้สมาชิกในบ้านมีพัฒนาการ ด้านกาย อารมณ์ สังคม และปัญญา
– พัฒนาการทางกาย: มีปัจจัยต่างๆโดยเฉพาะอาหารการพักผ่อนหลับนอน การทำความสะอาดร่างกาย ฯลฯ ช่วยให้เติบโต ช่วยให้ได้ออกกำลังกาย ถ้าแม่บ้านมีความรู้เรื่องอาหารในบ้านนั้นก็จะมีอาหารครบถ้วน ได้สัดส่วนและพอเพียงอาหารจะช่วยสร้างร่างกายให้แข็งแรง เมื่อเหน็ดเหนื่อยหรือประสบปัญหามาจากนอกบ้าน บ้านก็เป็นสถานที่คลายเครียดช่วยให้หลบอันตรายจากนอกบ้านได้
–พัฒนาการทางอารมณ์: เริ่มในวัยทารก ความรัก ความเอาใจใส่ การกอดรัดอุ้มชูจากพ่อแม่และคนเลี้ยง เมื่อหิวได้กินทันที เมื่อสกปรกเปื้อนก็มีผู้ทำความสะอาดให้ เมื่อโตขึ้นออกไปนอกบ้านแล้วเกิดปัญหา บ้าน คือพ่อแม่ก็จะแก้ปัญหาให้ จะสั่งสอนให้แสดงกิริยาที่เหมาะสมเมื่อเกิดอารมณ์ไม่ดี เมื่อต้องการความลำพัง บ้าน (อาจจะ) มีที่ให้สงบสติอารมณ์
–พัฒนาการทางสังคม: เมื่อรู้ภาษาแล้วยังไม่ได้ออกนอกบ้าน พ่อแม่ก็จะอบรมเรื่องมารยาท ว่าควรทำตัวอย่างไรต่อผู้อื่นและมีการถ่ายทอดวัฒนธรรมอื่นๆ เช่น สอนให้กราบพระ สวดมนต์ก่อนนอน สอนให้ใช้คำพูดที่สุภาพ ครอบครัวอาจมีแขกมาบ้านมาก เด็กก็จะได้เรียนรู้การพบปะอาคันตุกะในบ้าน
การมีบ้านอยู่ของตนเอง ได้แสดงฐานะทางสังคม จะทำให้เด็กเกิดความภูมิใจในบ้าน
–พัฒนาการทางปัญญา: การเลี้ยงดูที่ถูกต้องของพ่อแม่ช่วยให้เด็กได้รับความรู้ ความคิด ถ้าพ่อแม่สนใจหนังสือ เมื่อเด็กอ่านหนังสือได้แล้ว หนังสือเหล่านั้นก็จะเป็นแหล่งความรู้ เด็กจะได้เรียนรู้โดยการกระทำ เช่น ทำอาหาร ซักรีด ทำความสะอาดบ้าน ถ้าพ่อแม่มีอาชีพที่ประกอบอยู่ในบ้าน บ้านก็จะเป็นโรงเรียนที่มีประสิทธิภาพ
ความมีพ่อแม่พร้อมอยู่ในบ้าน เป็นพ่อแม่ที่รักลูก การได้รู้ว่าตนเป็นคนหนึ่งในครอบครัว เป็นที่ต้องการของพ่อแม่ ก็จะเกิดความรู้สึกอบอุ่น มั่นคง ปลอดภัย

ปัจจัยพื้นฐานที่มีผลต่อที่อยู่อาศัย:
 สภาพลักษณะรูปแบบของที่อยู่อาศัย ขึ้นอยู่กับปัจจัยพื้นฐาน หรือโครงสร้างของระบบที่อยู่อาศัย ดังต่อไปนี้
–ที่ดิน: ที่ตั้งต้องอยู่ในที่ที่เหมาะสม ป้องกันอันตรายจากที่อื่นๆได้ ต้องมีทางเข้าออกเชื่อมโยงกับชุมชนอื่นภายนอกได้ ถ้าเป็นในเมืองก็ต้องเชื่อมโยงกับระบบน้ำ ไฟ ตลอดจนสาธารณูปโภคต่างๆของรัฐ
–ลักษณะของครอบครัว: ขนาดของครอบครัว อายุของสมาชิกในครอบครัว กิจกรรมในบ้านและต่อเพื่อนบ้าน จะบ่งบอกความต้องการเนื้อที่ใช้สอยในบ้าน เช่น จำนวนห้อง ตำแหน่งห้อง การวางตำแหน่งของห้อง ความต้องการเปลี่ยนไปตามลักษณะของวัย และขนาดของครอบครัว
–ระบบสาธารณูปโภค: ไฟฟ้า ประปา โทรศัพท์ และบริการพื้นฐานอื่นๆ การเก็บขยะ ฯลฯ ถ้าไม่มีความพร้อมในสาธารณูปโภค หรือมีน้อย คุณภาพที่อยู่อาศัยก็ด้อยลง เกิดปัญหาแหล่งเสื่อมโทรมดังที่ปรากฏอยู่
–รายได้: ทำให้ที่อยู่อาศัยของผู้มีรายได้น้อย ปานกลาง และสูง แตกต่างกัน
–เทคโนโลยี: ทั้งเทคโนโลยีในการผลิตวัสดุก่อสร้างและการก่อสร้าง ทำให้แบบของที่อยู่อาศัยเปลี่ยนไปได้
–วัสดุที่หาได้: ที่มีในท้องถิ่นหรือมมาจากต่างประเทศ
–สภาพภูมิศาสตร์และวิธีการครองชีวิต หรือวิธีทำมาหากิน: ปัจจัย 3 ข้อสุดท้ายนี้ เห็นได้จากบ้านของเอสกิโมที่ขั้วโลกเหนือ ซึ่งยังชีพด้วยการล่าสัตว์ เช่น แมวน้ำ หมีขาว ปลาวาฬ ฯลฯ บ้านของเอสกิโมจะเป็นห้องเดียว พื้นห้องขุดลงไประดับต่ำกว่าพื้นดิน โครงสร้างเป็นเศษไม้หรือท่อนซุงเท่าที่หาได้ บางพวกใช้กระดูกปลาวาฬและก้อนหินก่อขึ้นมาเป็นผนังและหลังคา สูงกว่าระดับพื้นดินไม่มาก แห้งแล้วมุงทับด้วยหญ้าชนิดหนึ่งหลังคาเว้นช่องว่างโหว่ไว้ให้แสงเข้าและถ่ายเทอากาศ
ภายในมีม้านั่งหรือแท่นสำหรับพักผ่อนหลับนอน หลังคาเตี้ยช่วยให้ต้านทานพายุหิมะได้ดีในฤดูร้อนอากาศอบอุ่นขึ้น ก็จะสร้างกระโจมบนพื้นดิน มีโครงเป็นไม้และคลุมด้วยหนังกวาง

ระบบอนามัยในบ้านที่เหมาะสม:
 ระบบการอนามัยในบ้านมีความสำคัญมาก ที่จะช่วยให้เจ้าของบ้านอยู่ได้อย่างสุขสบาย องค์การอนามัยโลกระบุว่า
1.   บ้านพักอาศัยจะต้องสามารถช่วยป้องกันการแพร่เชื้อโรคได้ โดยจัดให้มีสิ่งต่างๆต่อไปนี้
–น้ำสะอาดและปลอดภัย ทั้งน้ำดื่มและน้ำใช้
–กำจัดสิ่งปฏิกูล จนไม่ให้มีการขยายพันธุ์ของแมลงที่เป็นพาหะของเชื้อโรคได้
–กำจัดขยะมูลฝอย รวมทั้งจัดให้มีที่ทิ้งหรือที่เก็บก่อนกำจัด ต้องป้องกันแมลง สัตว์ รวมทั้งมนุษย์ไม่ให้เข้าไปรบกวนได้
–ระบบการระบายน้ำผิวดิน ต้องสามารถควบคุมการแพร่เชื้อโรค และป้องกันไม่ให้รบกวนผู้อาศัย รวมทั้งไม่ทำลายตัวบ้านและทรัพย์สินอื่น
–การจัดอุปกรณ์เครื่องใช้ให้เพียงพอแก่งานของผู้อยู่อาศัย รวมถึงการจัดสุขลักษณะที่ดี ได้แก่ การระบายอากาศ อุณหภูมิ และความชื้นที่เหมาะสม
–ต้องมีที่เก็บอาหาร และที่เตรียมอาหารอย่างปลอดภัยจากเชื้อโรค หรือการรบกวนของพาหะต่างๆ
–ต้องมีความแข็งแรง มีเนื้อที่ใช้สอยเพียงพอสำหรับผู้อยู่อาศัย
2.    สามารถป้องกันเหตุร้ายอันเกิดจากสิ่งมีพิษและของมีคมที่ทำให้เกิดบาดแผลได้
–ที่ตั้งของบ้าน รวมทั้งครุภัณฑ์ในบ้าน ต้องมีส่วนช่วยด้านการอนามัยและความปลอดภัย ปราศจากสิ่งรบกวนจากมลพิษ
–แบบการก่อสร้างบ้าน ต้องมีที่ระบายอากาศ ปราศจากมลพิษ ลดความเสี่ยงจากการแพร่ของเชื้อโรค
–การจัดบ้านและการอยู่อาศัยในบ้าน ต้องลดการกระจายของมลพิษ และรักษาสิ่งแวดล้อมให้ดีด้วย
3.   ต้องช่วยเสริมให้มีการพัฒนาจิตใจ สุขาภิบาล ลดความเครียดต่างๆ
4.   สิ่งแวดล้อมของบ้านพักอาศัย ต้องใกล้สถานที่ประกอบอาชีพ มีบริการด้านต่างๆ ที่ติดต่อสะดวก
5.   ผู้อยู่อาศัยสามารถใช้บ้านพักอาศัยเป็นสถานที่พัฒนาสุขภาพของตนได้
6.   บ้านพักอาศัยควรเอื้ออำนวยประโยชน์ให้แก่สตรี เด็ก คนชรา และผู้ไม่สมประกอบทางกายและทางจิต
เกณฑ์การเลือกที่อยู่อาศัย:
เนื่องจากที่อยู่อาศัยมีราคาแพง เราจำเป็นต้องศึกษาเกณฑ์การเลือก เพื่อให้ได้ที่อยู่ที่เอื้อต่อการเพิ่มคุณภาพชีวิตของเราได้
1.  ความสะดวก: ทำเลที่อยู่อาศัย หากเป็นไปได้ควรเลือกที่ใกล้สถานที่ๆต้องไปเป็นประจำ เช่น ที่ทำงาน ตลาด ธนาคาร โรงเรียน วัด ฯลฯ อยู่บนถนนซอยซึ่งมีทางออกถนนใหญ่อย่างสะดวก เพื่อใช้บริการขนส่งสาธารณะ
2.  ความสบาย:ถ้ารอบๆบ้านมีผู้อาศัยที่อยู่กันอย่างสงบ เรียบร้อย ก็จะเกิดความสบายตา สบายหู ส่วนใหญ่ความสบายทางกายจะขึ้นอยู่กับการวางตัวบ้านให้ถูกทิศทางลม มีต้นไม้ให้ความร่มเย็น ทางผ่านบ้านไม่มีรถโดยสารสาธารณะหรือรถต่างๆวิ่งผ่านมาก ก็จะอยู่ได้สบายขึ้น ไม่มีเสียงและฝุ่นรบกวน
3.  ความปลอดภัย: ตัวบ้านไม่อยู่ลึกหรือในที่เปลี่ยวจนเกินไป ชุมชนดี ทำเลที่เลือกเอื้อต่อความปลอดภัยในการเดินทางเข้าออกได้อย่างปลอดภัย โดยเฉพาะในยามวิกาลอยู่ในที่ที่รถดับเพลิงเข้าถึง ถ้าเป็นหมู่บ้าน มีป้อมยามและคนรักษาความปลอดภัย ไม่อยู่ติดที่ว่าง ซึ่งเจ้าของจะมาสร้างอาคารใหญ่โตภายหลัง เพราะเวลาลงรากฐานหรือตอกเสาเข็ม อาจทำให้บ้านเราพังได้ เวลาก่อสร้างก็ก่อความไม่สงบ มีทั้งเสียงและฝุ่น
4.  ถูกสุขลักษณะ: มีระบบระบายน้ำออกจากบ้านสู่ท่อระบายน้ำสาธารณะ ไม่เป็นที่ลุ่ม เวลาฝนตกน้ำไม่ขัง (ถ้าขังไว้นานก็จะเป็นที่เพาะยุง แมลง กลิ่น และเป็นบ่อเกิดของเชื้อโรค)
5.  เป็นสถานที่ๆคุ้นมาเป็นเวลานาน: บางคนไม่ชอบสิ่งแวดล้อมใหม่หรือคนแปลกหน้า ผู้สูงอายุอาจเลือกอยู่ในละแวกที่มีเพื่อน ญาติ หรือคนคุ้นเคย เพื่อไม่ให้เกิดความเหงา หรือเวลาจำเป็น อาจพึ่งพาอาศัยกันได้
6.   เลือกที่อยู่ที่ไม่ต้องลงทุนมาก: เช่น ปลูกบ้านบนที่ดินมรดก เสียแค่ค่าปลูกสร้างบ้าน











ที่มาวีดีโอhttp://www.youtube.com/watch?v=IvC3CtFE0I8
ที่มารูปภาพhttps://www.google.co.th/search?
อ้างอิง รศ.ดร.ทวีรัสมิ์ ธนาคม.(2547).เรื่องจริง....ที่เป็นเรื่องใหญ่.